ร้านชาสา ได้ผสมผสานภูมิปัญญาในท้องถิ่น เพื่อดำเนินกิจการรองรับและบริการนักท่องเที่ยว ซึ่งทำให้ชุมชนสามารถพึ่งตนเองและมีรายได้ ขอเชิญนักท่องเที่ยวชิมชา จากพันธุ์ชาชั้นเยี่ยมที่คัดสรรแล้ว เลือกซื้อ ชาคุณภาพดี อุปกรณ์การชงชา และสินค้าของฝาก ของที่ระลึกมากมาย
ผู้ผลิต ร้านชาสา
สถานที่ผลิต เลขที่ 95 บ้านรักไทย หมู่ที่ 6 ตำบลหมอกจำแป่ อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน
ผู้ประกอบการ : นายไทฉิง แซ่หลิว
ประวัติความเป็นมา การปลูกชาในหมู่บ้านรักไทย ได้รับการสนับสนุนจากประเทศไต้หวัน ซึ่งผู้คนที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านรักไทยนั้น ส่วนใหญ่เป็นชาวจีนที่อพยพมาจากมณฑลยูนนาน นานกว่า 50 ปี โดยผ่านทางประเทศพม่า เข้าสู่ประเทศลาว และอพยพเข้าสู่ประเทศไทย ซึ่ง นายกางเหวิน แซ่หลิว เป็นทหารจีนคณะชาติ กองพลทหารจีน 93 ที่แพ้สงครามเหมาเจอตุง เป็นบิดาของนายไทฉิง แซ่หลิว ผู้ผลิตชาร้านชาสาเป็นผู้ประสานขอรับการสนับสนุนจากประเทศไต้หวัน เนื่องจากหลังแพ้สงคราม กองพลทหารจีน 93 มีความเป็นอยู่ยากจน ซึ่งในระยะต่อมาทางไต้หวัน สนับสนุนงบประมาณสร้างอ่างเก็บน้ำ สถานีอนามัย และนำพันธุ์ชามาให้ผู้อพยพได้ปลูก ประกอบด้วยพันธุ์ ชาอูหลง ชาอูหลงเบอร์ 12 ชาอูหลงก้านอ่อน ชาเขียว ชาชิงชิง
มาตรฐานและรางวัลที่ได้รับ ผลิตภัณฑ์ชาสาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผ่านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน และได้รับการคัดสรรสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย ระดับ 4 ดาวในปีพ.ศ. 2553
ร้านชาสา นอกเหนือจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชาแล้ว ยังประกอบธุรกิจอื่น ๆ อีกคือร้านอาหารจีนยูนนาน ที่พักโฮมสเตย์ จึงทำให้ต้องใช้แรงงานในท้องถิ่น กอร์ปกับการอยู่ร่วมกันในสังคมของราษฎรที่อยู่ชายแดนซึ่งประกอบด้วยหลายชน เผ่า อาทิเช่น ปะโอ ไทยใหญ่ ซึ่งมีการอพยพตลอดเวลา ต้องเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ระหว่างชนเผ่า ฉะนั้นหากมีกิจกรรมในชุมชนหมู่บ้านรักไทยทุกกิจกรรม ทางครอบครัวของนายไทฉิง แซ่หลิว ยังคอยให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลอยู่เสมอ เฉกเช่นเดียวกับนายกางเหวิน แซ่หลิว ผู้นำของชาวจีนยูนนานในหมู่บ้านรักไทย ยังมีชีวิตอยู่
สำหรับการร่วมกิจกรรมของหน่วยงานภาครัฐ ร้านชาสามีส่วนร่วมกิจกรรมตามโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ที่หน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยงานไม่ว่าจะเป็น กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพานิชย์ และกระทรวงมหาดไทย โครงการอบรมกลุ่มอาชีพด้านการบริหารจัดการการตลาด การบริหารจัดการ การผลิต และการเงิน ณ โรงแรมเดอแฟมิลี จังหวัดเชียงใหม่
ชาชนิดใบ
1.เก็บใบชาเฉพาะส่วนยอด ในช่วงระยะเวลาเช้า –บ่าย
2.นำใบชามาผึ่งแดดสักพักหนึ่งแล้วเก็บไว้ในร่มประมาณ 5 – 6 ชั่วโมง
3.นำใบชาเข้าเครื่องคั่ว ครั้งละ 12 – 14 ชั่วโมง
4.นำใบชาที่คั่วสุกแล้วไปนวดประมาณ 3 - 5 นาที
5.นำใบชาไปอบแห้ง 6.บรรจุหีบห่อ
ชาชนิดอัดเม็ด
1.คั่วใบชา
2.นวดใบชา
3.อัดเม็ด
4.โม่แล้วนำมาคั่วอุ่น (ทำไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งใบชากลายเป็นเม็ดกลม ๆ)
5.อบด้วยไฟ(ฟืน) หรือแก๊ส
แหล่งจำหน่ายผลิตภัณฑ์
1. เลขที่ 95 บ้านรักไทย หมู่ที่ 6 ตำบลหมอกจำแป่ อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน โทร. 085-7199399, 1086-1182067
2. ศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์อำเภอเมือง
3. สนามบินจังหวัดแม่ฮ่องสอน
4. Road show ต่างประเทศ