เป็นประเพณีที่สำคัญของจังหวัดสระบุรี และมีแห่งเดียวของประเทศไทย โดยถือเอาวันเข้าพรรษา วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี จะมีประชาชนผู้เฒ่า ผู้แก่ และคนหนุ่มสาวทั่วไป ต่างพากันไปทำบุญตักบาตรเนื่องในวันเข้าพรรษาที่วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร
ประเพณีตักบาตรดอกไม้ ช่วงเดือน เข้าพรรษา จัด 3 วัน ตั้งแต่วันโกน วันอาสาฬบูชา วันเข้าพรรษา มีการ ตักบาตร ในวันแรก 1 รอบ วันที่ 2,3 วันละ 2 รอบ ช่วงเวลาตั้งแต่ 9.00 น และ 15.00 น.
นับว่าเป็นประเพณีที่สำคัญของจังหวัดสระบุรี และมีแห่งเดียวของประเทศไทย โดยถือเอาวันเข้าพรรษา วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ของทุกปี จะมีประชาชนผู้เฒ่า ผู้แก่ และคนหนุ่มสาวทั่วไป ต่างพากันไปทำบุญตักบาตรเนื่องในวันเข้าพรรษาที่วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร ซึ่งตามประเพณีชาวพุทธทั้งหลาย เมื่อเสร็จจากการทำบุญตักบาตรในตอนเช้าแล้ว ประชาชนโดยทั่วไปก็จะพากันไปเก็บดอกไม้ชนิดหนึ่ง มีลักษณะคล้ายต้นกระชายหรือต้นขมิ้น มีสีสันเป็นดอกสีเหลืองหรือสีขาวเรียกว่า "ดอกเข้าพรรษา" ซึ่งดอกไม้ชนิดนี้ชอบขึ้นตามไหล่เขา และจะมีเฉพาะช่วงเข้าพรรษา โดยจะมีการตักบาตรดอกไม้ในตอนบ่ายของวันเข้าพรรษา บริเวณวัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร ตำบลขุนโขลน อำเภอพระพุทธบาท
จากเรื่องเล่าเกี่ยวกับวัดพระ พุทธบาทฯ ในอดีต ยามหน้าแล้งกลางเดือนสาม เดือนสี่ ผู้คนจากทั่วสารทิศ จะพากันหลั่งไหลไปนมัสการรอยพระพุทธบาทกันเนืองแน่น สมัยนั้นการขึ้นไปมิใช่เรื่องง่าย ต้องหยุดการทำงานต่าง ๆ เพื่อเตรียมสัมภาระ จัดหาทุนรอนค่าอาหาร ค่าจ้างช้างม้าเรือแพ การเดินทางยากลำบาก ทั้งชีวิตบางคนอาจมีบุญไปกราบได้เพียงครั้งเดียว บางคนไม่มีโอกาส แม้จะมีความตั้งใจสูงเพียงใด
ประกอบกับแต่ก่อน ผู้คนมักจะไปนมัสการรอยพระพุทธบาทกันเป็นหมู่ใหญ่ ทั้งหมดล้วนแล้วมีความตั้งใจ พร้อมกับความเชื่อที่ว่า ถ้าได้ไปกราบนมัสการรอยพระพุทธบาทถึง 3 ครั้งในชีวิต จะได้ขึ้นสวรรค์ ดังนั้น ทุกคนจึงเพียรพยายามอย่างยิ่ง และเมื่อไปถึงได้กราบรอยพระพุทธบาท ต่างตั้งจิตอธิษฐานตามใจปรารถนา หลังจากนั้นประชาชนทั้งหลายจะตีระฆังที่แขวนเรียงรายไว้ ด้วยหวังประกาศบุญให้เทพยดาทุกชั้นได้อนุโมทนา
ปัจจุบันนอกเหนือจากเดือนสาม เดือนสี่แล้ว ยังมีวันเข้าพรรษาอีกหนึ่งวัน ที่ผู้คนจากทั่วสารทิศเดินทางมานมัสการรอยพระพุทธบาท และสำหรับในจังหวัดสระบุรี ประเพณีที่สำคัญในวันเข้าพรรษาก็คือ "ประเพณีตักบาตรดอกไม้" ซึ่งจะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีที่วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี และชาวสระบุรีถือว่า ประเพณีตักบาตรดอกไม้เป็นประเพณีที่สำคัญ และปฏิบัติสืบทอดต่อกันมาทุกปี
ทั้งนี้ ประเพณีตักบาตรดอกไม้ สืบเนื่องมาจากตำนานที่ว่า พระเจ้าพิมพิสาร แห่งกรุงราชคฤห์ ทรงโปรดปรานดอกมะลิมาก จึงรับสั่งให้นายมาลาการนำดอกมะลิมาถวายวันละ 8 กำมือ ต่อมาวันหนึ่ง ขณะที่นายมาลาการกำลังเก็บดอกมะลิ ก็ได้พบเห็นพระพุทธเจ้า พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์อีกจำนวนหนึ่งกำลังออกบิณฑบาต นายมาลาการเกิดความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า จึงนำดอกไม้ถวายแด่พระพุทธเจ้า และตั้งจิตอธิษฐานว่า ข้าวของทุกสิ่งที่พระเจ้าพิมพิสารทรงมอบให้เพียงเพื่อยังชีพในภพนี้เท่านั้น แต่การถวายดอกไม้แด่พระพุทธองค์ ส่งอานิสงส์ถึงชาติภพหน้า ดังนั้นแม้จะถูกลงโทษประหารชีวิต เพราะไม่ได้ถวายดอกมะลิพระเจ้าพิมพิสารก็ยินยอม
จากนั้น เมื่อภรรยาของนายมาลาการทราบเรื่องเกรงจะถูกลงโทษ จึงได้หลบหนีไป แต่เมื่อพระเจ้าพิมพิสารทราบเรื่องดังกล่าวกลับไม่กริ้ว ซ้ำยังพอพระราชหฤทัยเป็นอย่างมาก พระราชทานรางวัลความดีความชอบให้นายมาลาการมากมาย ทำให้นายมาลาการมีชีวิตอยู่อย่างมีความสุข
จากตำนานดังกล่าว จึงส่งผลให้ประเพณี "ตักบาตรดอกไม้" ถูกสืบทอดปฏิบัติเรื่อยมา เนื่องจากชาวพุทธเชื่อว่า การตักบาตรดอกไม้จะได้บุญได้กุศลอันยิ่งใหญ่ และอานิสงส์ส่งไปถึงภพหน้านั่นเอง
เมื่อชาวบ้านเสร็จสิ้นจากการทำบุญในตอนเช้าแล้ว ก็จะพากันนำดอกไม้ชนิดหนึ่งที่เรียกว่า "ดอกเข้าพรรษา" มารอใส่บาตรพระสงฆ์ ซึ่ง "ดอกเข้าพรรษา" นี้ มีลักษณะคล้ายต้นกระชาย หรือ ต้นขมิ้น มีหลายสี เช่น สีเหลือง สีขาว ขึ้นตามไหล่เขาโพธิ์ลังกา หรือเขาสุวรรณบรรพต เทือกเขาวง และเขาพุใกล้ ๆ กับรอยพระพุทธบาท และผลิดอกในช่วงเข้าพรรษาเท่านั้น ชาวบ้านจึงเรียกว่า "ต้นเข้าพรรษา"
หลังจากนั้น พระภิกษุสงฆ์จะเดินออกจากศาลาการเปรียญ มารับดอกไม้จากพุทธศาสนิกชนที่รอนำดอกไม้ใส่บาตร เพื่อนำขึ้นไปสักการะรอยพระพุทธบาท ที่ประดิษฐานบนพระมณฑป ซึ่งรอยพระพุทธบาท ภายในวัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหารแห่งนี้ เป็นที่เคารพและศรัทธาของพุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ โดยมีความเชื่อในคติชาวลังกาว่า พระพุทธเจ้าได้ประทับรอยพระพุทธบาทไว้ 5 แห่ง และรอยพระพุทธบาทที่วัดพระพุทธบาทฯ แห่งนี้ เป็น 1 ใน 5 แห่งของโลก
หลังจากพระสงฆ์เข้านมัสการรอยพระพุทธบาทที่มณฑปแล้ว ก่อนที่จะเข้าพระอุโบสถ จะผ่านพุทธศาสนิกชนที่รออยู่ตรงบันไดนาค เพื่อที่จะร่วมกันล้างเท้าพระภิกษุสงฆ์ ซึ่งการกระทำดังกล่าว ถือเป็นการชำระกิเลส ชำระบาป เพื่อจะได้บุญกุศล และความสุขทางจิตใจติดตัวกลับไป
คำถวายดอกไม้ "อิมานิ มยํ ภนฺเต วรปุปผานิ สงฺฆสฺส โอโณชยาม สาธุโน ภนฺเต สงโฆ อิมานิ วรปุปผานิ ปฏคฺ คณฺหาตุ อมฺหาถํ ทีฆรตฺตํ หิตายสุขาย"
"ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลายขอน้อมถวาย ซึ่งดอกไม้อันประเสริฐทั้งหลาย เหล่านี้ แด่พระสงฆ์ จงรับซึ่งดอกไม้อันประเสริฐทั้งหลายเหล่านี้ เพื่อประโยชน์เกื้อกูล และเพื่อความสุขแก่ ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนานเทอญ"