ในช่วงปลายเหมันตฤดู เดือนสี่เหนือ ประมาณเดือนธันวาคมถึงมกราคม ชาวล้านนามีประเพณีสำคัญประจำเดือน ในวันขึ้น 15 ค่ำ ของเดือน นั่นคือประเพณี “ทานข้าวใหม่ - หิงไฟพระเจ้า”
ในช่วงปลายเหมันตฤดู เดือนสี่เหนือ ประมาณเดือนธันวาคมถึงมกราคม ชาวล้านนามีประเพณีสำคัญประจำเดือน ในวันขึ้น 15 ค่ำ ของเดือน นั่นคือประเพณี “ทานข้าวใหม่ - หิงไฟพระเจ้า”
หลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวในนาแล้ว ชาวนาต่างนึกถึงคุณของ “ผีปู่ผีย่า ผีฟ้าผีน้ำ ผีค้ำดินดำ” อันได้แก่ ผีบรรพบุรุษผู้บุกเบิกเนื้อไร่แดนนา ผีบนฟ้าที่ประทานสายฝน มีขุนน้ำประจำชลธารไหล ได้หล่อเลี้ยงข้าวกล้าเติบโตงาม ผีดินผู้ค้ำหนุนมีคุณด้วยประทานเนื้อดินอันอุดม ให้สมบูรณ์พูนผลจนสำเร็จเป็นเมล็ดข้าว จึงได้พากันจัดแบ่งข้าวเปลือกข้าวสารใส่กระทง พร้อมข้าวสุก อาหารคาวหวาน ขนม ผลไม้ หมากพลูบุหรี่ ใส่กระบะบัตรพลี แล้วประกอบพิธีเซ่นสรวงบูชา
ต่อมาชาวล้านนาได้รับเอาพระพุทธศาสนามาเป็นศาสนาหลัก การบูชาคุณจึงนิยมทำบุญอุทิศตามคติความเชื่อทางพระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของพืชผลธัญญาจึงถูกจัดไว้ไหว้สาบูชาพระรัตนตรัยด้วย ภายหลังพลังศรัทธาพระศาสนาเข้มข้นขึ้นจึงจัดถวายพระรัตนตรัยเป็นหลักใหญ่ แต่ถึงอย่างไรก็มิได้ทิ้งคติเดิม กล่าวคือยังมีการทำบุญผ่านการ “ทานขันข้าว” คือสำรับอาหารอันมีข้าวใหม่เป็นหลัก อุทิศให้เจ้าแดนแผ่นนา เทวดาพระนางธรณี เจ้าที่เจ้าแดนเจ้าแห่งเจ้าหน ตลอดจนญาติมิตรผู้ล่วงลับถ้วนหน้า
กล่าวถึงเฉพาะการทำบุญใหญ่ เรียกทั่วไปว่า “ทานข้าวใหม่” แต่ก็มีหลายท้องที่เรียกชื่อต่างกันไปได้แก่ ทานข้าวหล่อบาตร ทานข้าวล้นบาตร และทานดอยข้าว ซึ่งแต่ละชื่อเกิดจากอาการที่เห็น คือเริ่มต้นทางวัดจะจัดภาชนะรองรับส่วนใหญ่เป็นบาตร ชาวบ้านที่นำเมล็ดข้าวไปทำบุญจะ “หล่อ” คือเทเมล็ดข้าวลงในบาตร เมื่อเห็นอาการเช่นนี้จนชินตาจึงเรียก “ทานข้าวหล่อบาตร” และเมื่อข้าวเต็มบาตรก็เทข้าวออกกองไว้แล้วหงายบาตรขึ้นรับใหม่จนข้าวเต็ม และล้นออกจึงเรียก “ทานข้าวล้นบาตร” สุดท้ายหลายบาตรเข้า กองเมล็ดข้าวก็ใหญ่โตเหมือนภูเขา จึงเรียกว่า “ทานดอยข้าว” ซึ่งกองที่เป็นข้าวสารมองเห็นเป็นสีขาว เรียก “ดอยเงิน” ส่วนกองข้าวเปลือกเห็นเป็นสีเหลืองเรียก “ดอยคำ”
ลักษณะการทำบุญ นอกจากจะทำบุญด้วยผลิตผลซึ่งเป็นเมล็ดข้าวล้วน ๆ แล้ว ยังมีการแปรสภาพข้าวถวาย เช่น นำข้าวไปนึ่งสุกแล้วปั้นปิ้งไฟเป็นข้าวจี่ หรือใส่กระบอกไม้เผาไฟให้สุกเป็นข้าวหลามไปถวายพระ จึงมีคำเรียกติดปากอีกชื่อว่า “ทานข้าวจี่ข้าวหลาม” ส่วนการ “ทานขันข้าว” จะนึ่งข้าวใหม่ถวายพร้อมอาหารปรุงรสพิเศษและพืชผลตามฤดูกาลอาทิ ถั่ว งา หัวมัน เป็นต้น
อนึ่ง ในวันเดียวกัน มีประเพณีสำคัญอีกประเพณีหนึ่ง เรียกว่าประเพณี “ทานหลัวหิงไฟพระเจ้า” จะมีการจัดเตรียม “หลัว” คือฟืนสำหรับเผาถวายเป็นพุทธบูชา โดยมีจุดมุ่งหมายให้ “พระเจ้า” หมายถึง พระพุทธเจ้าได้ “หิง” คือผิงให้เกิดไออุ่น ซึ่งเรื่องนี้เกิดจากความรู้สึกของคนที่คิดว่าในฤดูหนาวอากาศหนาวเย็น พระพุทธเจ้าก็คงจะหนาวเช่นกัน จึงเกิดกิจกรรมนี้ขึ้น สำหรับฟืนที่ใช้มักเป็นไม้ที่มีเนื้อสีขาว เช่น ไม้คนทาหรือชิงชี่ ไม้ตะคร้อ ไม้มะขาม เป็นต้น ฟืนที่หาได้จะถูกตัดให้ยาวประมาณ 1 วาของเจ้าภาพแล้วมัดรวมกันให้ได้ 80 ท่อน เท่าจำนวนพระชนมายุของพระพุทธเจ้าคือ 80 พรรษา นอกจากนี้ อาจมีท่อนไม้ไผ่สดใส่เข้าในกองไฟ เพื่อให้เกิดระเบิดเสียงดังตูมตาม และพิธีกรรมนี้จะมีขึ้นในเช้ามือของวันนั้น
ประเพณีทานข้าวใหม่ก็ดี ประเพณีทานหลัวหิงไฟพระเจ้า ก็ดี เป็นประเพณีที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตในสังคมเกษตร ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของคนในอดีต ปัจจุบันแม้สังคมจะเปลี่ยนไป แต่ประเพณีดังกล่าวก็ยังคงหลงเหลืออยู่ เพราะหากมองดูแก่นแท้แล้วจะเห็นได้ว่าเป็นประเพณีที่ส่งเสริมคุณธรรมชั้นสูง อันได้แก่ “กตัญญูกตเวทิตาธรรม” น้อมนำจิตใจให้อ่อนโยน เคารพและเทิดทูนคุณค่าของบุพพการีชน จึงถือเป็นสิ่งจรรโลงศีลธรรม อันจะนำผลให้คนในสังคมใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
ประเพณีทานหลัวหิงไฟพระเจ้า จะจัดช่วงเดือน 4 เหนือ (มกราคม) หรือ ขึ้น 15 ค่ำเดือน 2 ของทุกปี