การชมบั้งไฟพญานาคนั้นนอกจากจะรู้วันแล้ว ยังต้องรู้เวลา รู้สถานที่ ที่มีแนวโน้มการเกิดบั้งไฟพญานาคอีกด้วย ตำแหน่งที่บั้งไฟพญานาคมักจะปรากฏให้เห็นว่า ทั่วทั้ง จ.หนองคาย มีอยู่ทั้งหมดประมาณ 20 จุด
บั้งไฟพญานาค หรือ บั้งไฟผี ลูกไฟแดงอมชมพู ที่พุ่งขึ้นจากแม่น้ำโขง สู่ท้องฟ้าในวันออกพรรษา ที่บริเวณเขต อ.โพนพิสัย เห็นจนชินและเรียกสิ่งนี้ว่า “บั้งไฟพญานาค” เพราะลูกไฟที่ว่านี้จะเป็นลูกไฟ สีแดงอมชมพู ไม่มีเสียงไม่มีควัน ไม่มีเปลว ขึ้นตรง ไม่โค้งและตกลงมาเหมือนลูกไฟทั่วไป จะดับกลางอากาศ สังเกตได้ง่ายจากลูกไฟทั่วไป จะเกิดขึ้นในเขตตั้งแต่ บริเวณค่าย ตชด.(อ่างปลาบึก), วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่, ท่าน้ำวัดหลวง ต.วัดหลวง เรื่อยลงไปจนถึง เขตบ้านน้ำเป กิ่ง อ.รัตนวาปี แต่ก่อนจะเห็นเกิดขึ้นเฉพาะท่าน้ำวัดหลวง, วัดจุมพล, วัดไทย และท่าน้ำวัดจอมนาง อ.โพนพิสัยแต่ทุกวันนี้จะเห็นเกิดที่บ้านน้ำเป, บ้านท่าม่วง, ตาลชุม, ปากคาด และ แก่งอาฮง อ.บึงกาฬ
ก่อนนี้คน อ.โพนพิสัย เห็นแล้วก็เฉย ๆ เพราะเห็นประจำทุกปีในวันออกพรรษา เมื่อวันออกพรรษา ได้ไปนั่งดูอยู่ที่ท่าน้ำวัดไทย อ.โพนพิสัย และได้ลงเรือไปไหลเรือไฟด้วย เมื่อไหลเรือไฟมาถึงบริเวณท่าน้ำวัดหลวงก็จะเริ่มเห็นลูกไฟดังกล่าว พุ่งขึ้นจากแม่น้ำโขง ขึ้นสูงไม่เกิน 2-3 วา นาน ๆ จะพุ่งขึ้นที จะขึ้นก็ต่อเมื่อประชาชนบนฝั่งเวียนเทียนเสร็จ เงียบ ลูกไฟถึงจะขึ้นให้เห็น แต่ทุกวันนี้ เมื่อ 18.00 น. ก็ขึ้นแล้วขึ้นสูงถึง 200-300 เมตร และขึ้นแต่ละทีก็มากด้วย ตั้งแต่ 5-20 ลูกติดต่อกัน
สังเกตว่า ลูกไฟนี้หากขึ้นกลางโขงจะเบนเข้าหาฝั่ง หากขึ้นใกล้ฝั่งจะเบนออกกลางโขง ลูกไฟนี้จะขึ้นเฉพาะวันออกพรรษาเท่านั้น แต่ถ้าหากวันพระไทย ไม่ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ ของลาว ลูกไฟนี้ก็จะไม่ขึ้น ปีไหน (วันออกพรรษา) ตรงกันทั้งไทย และ ลาว ลูกไฟนี้จะขึ้นมาก เชื่อกันว่าที่ เขต อ.โพนพิสัย มีเมืองบาดาล อยู่ใต้พื้นดินและเป็นทางออกสู่เมืองมนุษย์ เรียกว่า เป็นเมืองหน้าด่านจึงมีบั้งไฟพญานาค เกิดขึ้นเป็นประจำที่นี้ ส่วนเมืองหลวงนั้นอยู่ที่ แก่งอาฮง อ.บึงกาฬ ที่ว่าอย่างนั้นเพราะที่แก่งอาฮง เมื่อหน้าแล้งจะมีสะดือแม่น้ำโขง ตลอดความยาวของแม่น้ำโขง ที่ไหลผ่านหลายประเทศ ตรงที่ลึกที่สุดก็อยู่ที่แก่งอาฮง เมื่อหน้าแล้ง ชาวประมงวัดโดยใช้เชือกผูกก้อนหินหย่อนลงไปได้ 99 วา ที่นี้จะมีลูกไฟขึ้นเป็นสีเขียวนวล บ่อยครั้งที่ชาวลุ่มแม่น้ำโขงต้องเสียชีวิตลงในระหว่างการเดินทาง ทางน้ำ พวกเขาเชื่อว่าเป็นการกระทำผิดต่อเจ้าแม่สองนาง หรือ เทพเจ้าทางน้ำ จึงถูกลงโทษเหตุนี้เรียกว่า “เงือกกิน” “เงือก, งู” เป็นสิ่งเดียวกันกับพญานาค แต่พญานาคนั้นมีภพเป็นที่อยู่อีกมิติหนึ่ง สามารถแปลงร่างได้หลายชนิด แปลงกายเป็นมนุษย์ หรือ อะไรก็ได้ เพียงแค่คิดเท่านั้นรูปร่างก็เปลี่ยนไปแล้ว จึงได้ปรากฏอยู่บ่อยๆ ว่ามีคนเห็นงูใหญ่ หรือเห็นคนเดินลงไปในน้ำ หรือหลายครั้งที่มีคนพบรอยประหลาดแต่ก็เชื่อว่าเป็นรอยพญานาคที่เกิดขึ้นใน เขต อ.โพนพิสัย หรือที่อื่น ๆ แม้แต่กลางกรุงเทพ ฯ ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว แต่หากคิดว่าทำไมและเกิดขึ้นได้อย่างไรนั้น และทำไมจะต้องเกิดขึ้นเฉพาะในวันออกพรรษาเท่านั้น และจะต้องตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ ของลาวจึงเชื่อได้ว่าพญานาค มีสัญชาติเชื้อชาติ ลาว ถึงแม้จะเกิดขึ้นทางฝั่งไทยก็ตาม
นับว่าเป็นเรื่องเหลือเชื่อ และเป็นสิ่งมหัศจรรย์แห่งลุ่มแม่น้ำโขงที่แท้จริง เพราะลูกไฟประหลาดหรือที่เรียกว่า “บั้งไฟพญานาค” นี้เกิดขึ้นเฉพาะในเขต จ.หนองคายเท่านั้น ตามแนวแม่น้ำโขง ไม่มีขึ้นที่อื่นแม้จะอยู่ตามริมแม่น้ำโขงเช่นกัน จึงนับได้ว่าหนองคายกับเวียงจันทน์ สมัยก่อนนั้นการปกครองและ การสร้างเมืองโดยพญานาค จึงได้รับอิทธิพลนี้เช่นกัน ถึงแม้ว่าจะถูกแยกการปกครอง และแยกประเทศออกจากกัน แต่ในความเป็นจริงทางภูมิศาสตร์ก็เป็นพื้นที่เดียวกัน
ตำนานประเพณีต่าง ๆ ของคนแถบลุ่มแม่น้ำโขง จะเกี่ยวข้องกับพญานาคกันทั้งนั้น เพราะพญานาค หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ทางการเกษตร และความเป็นอยู่ของมนุษย์
ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นก็เพื่อ ทำความเข้าใจเกี่ยวกับ พญานาค ก่อนว่ามีความเป็นมาอย่างไร และ สำคัญอย่างไร กับเมืองหนองคาย-เวียงจันทน์ และทำไม”บั้งไฟพญานาค”จึงได้เกิดขึ้นเฉพาะเขต จ.หนองคาย เท่านั้น และที่สำคัญจะเกิดขึ้นเฉพาะวันขึ้น 15 ค่ำ ที่ตรงกันระหว่าง ไทย-ลาว หากปีไหนแปดสองหนบั้งไฟพญานาค ก็จะเลื่อนไปขึ้นในวันพระลาว (15 ค่ำ ลาว) เป็นเรื่องที่ท้าทายให้มาดูมหัศจรรย์แห่งลุ่มแม่น้ำโขง บั้งไฟพญานาคว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร ทำไมจึงต้องเกิดในวันดังกล่าวเท่านั้น ใครทำเพื่ออะไร และ ได้อะไรจากการกระทำดังกล่าว เชื่อว่าหลายคนยังต้องการไปพิสูจน์ความมหัศจรรย์นี้อยู่ (ตำนานพระพุทธศาสนา กล่าวว่า เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จขึ้นไปโปรดพระมารดา บนดาวดึงส์ ครบ 3 เดือน เมื่อเสด็จกลับโลกมนุษย์ พญานาคได้เนรมิตบันไดแก้ว เงิน ทอง เสด็จลงมา มนุษย์ เทวดา พญานาค ได้ฉลองสมโภชด้วยการจุดบั้งไฟถวาย โดยเฉพาะเหล่าพญานาค ดังนั้นต่อมาเหล่าพญานาคจึงได้ถือเอาวันออกพรรษาเป็นวันสำคัญ)
จุดชมบั้งไฟพญานาค
การชมบั้งไฟพญานาคนั้นนอกจากจะรู้วันแล้ว ยังต้องรู้เวลา รู้สถานที่ ที่มีแนวโน้มการเกิดบั้งไฟพญานาคอีกด้วย ตำแหน่งที่บั้งไฟพญานาคมักจะปรากฏให้เห็นว่า ทั่วทั้ง จ.หนองคาย มีอยู่ทั้งหมดประมาณ 20 จุด โดยในจ.หนองคายเกิดขึ้นหลายจุด แต่จุด ที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี มีผู้พบเห็นบ่อยครั้งเริ่มจากที่ อ.สังคม บริเวณ "อ่างปลาบึก" บ้านผาตั้ง บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอสังคม ต่อมาที่บริเวณ "วัดหินหมากเป้ง" อ.ศรีเชียงใหม่
ถัดจากนั้นก็จะพบในเขต อำเภอเมืองบ้านหินโงม ต.หินโงม อ.เมือง หน้าสถานีตำรวจภูธรตำบลบ้านเดื่อ ต.บ้านเดื่อ อ.เมือง พอเข้าสู่เขต อ.โพนพิสัยก็จะพบแทบจะตลอดลำน้ำโขง ตั้งแต่ปากห้วยหลวง ต.ห้วยหลวง อ.โพนพิสัย ในเขตเทศบาล ต.จุมพล หน้าวัดไทย วัดจุมพล วัดจอมนาง หนองสรวง เวินพระสุก ท่าทรายรวมโชค ต.กุดบง บ้านหนองกุ้ง ซึ่งที่ อ.โพนพิสัยจะพบมากที่สุด แล้วมาพบอีก ที่กิ่งอ.รัตนวาปี บริเวณ ปากห้วยเป บ้านน้ำเป วัดเปงจาเหนือ บ้านหนองแก้ว ในเขตอ.ปากคาด บ้านปากคาดมวลชล ห้วยคาด อ.ปากคาด และที่ อ.บึงกาฬ บริเวณวัดอาฮง ตำบลหอคำ อ.บึงกาฬ ซึ่งเป็นจุดที่ชาวหนองคายเชื่อกันว่าเป็นสะดือแม่น้ำโขง เป็นเมืองหลวงของเมืองบาดาล ก็ปรากฏบั้งไฟพญานาคให้เห็นเช่นกัน
ทางด้านจังหวัดอุบลราชธานี มีชาวบ้านพบเห็นมา 2-3 ปี แล้วและทางอ.โขงเจียมก็ได้พิสูจน์มาแล้วว่ามีจริง โดยการเข้าชมปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาค อ.โขงเจียมปีนี้ กำหนดจุดชมไว้ 3 แห่ง คือ บ้านกุ่ม บ้านท่าล้ง และบ้านตามุย สำหรับระยะเวลาในการขึ้นของบั้งไฟพญานาคนั้นจะขึ้น ระหว่างตะวันตกดินถึงประมาณ 23.00 น.ก็จะหมดไป